หน้าแรก > บทความจากหนังสือพิมพ์ > คอลัมน์ ก.พ.ค.ขอบอก: “ร้องทุกข์ซ้ำ ทำไม่ได้”

คอลัมน์ ก.พ.ค.ขอบอก: “ร้องทุกข์ซ้ำ ทำไม่ได้”

มิถุนายน 3, 2015 ใส่ความเห็น Go to comments

คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม. คอลัมน์ ก.พ.ค.ขอบอก: “ร้องทุกข์ซ้ำ ทำไม่ได้”. มติชน ฉบับวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2558 หน้า 10

“ก.พ.ค. ขอบอก” วันนี้ ขอเสนอกรณีตัวอย่างเรื่องร้องทุกข์ของข้าราชการตำแหน่งเลขาธิการสำนักงาน ก. ได้ร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. กรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ข. ได้พิจารณาวินิจฉัยหรือมีความเห็น ในเรื่องที่ผู้ร้องทุกข์มีหนังสือขอความเป็นธรรม โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม และใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ โดยผู้ร้องทุกข์ได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ข. 2 กรณี คือ กรณีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงผู้ร้องทุกข์ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกรณีคณะกรรมการสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ร้องทุกข์ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่ปรากฏในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง

ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า ในประเด็นร้องทุกข์เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้ร้องทุกข์ไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย ก.พ.ค. ได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2556 ไม่รับคำร้องทุกข์ไว้พิจารณาแล้ว และในประเด็นร้องทุกข์เรื่อง คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงดำเนินการสอบสวนผู้ร้องทุกข์ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก.พ.ค. ได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2556 ไม่รับคำร้องทุกข์ไว้พิจารณาแล้วเช่นกัน รวมทั้งเมื่อได้พิจารณาประเด็นร้องทุกข์และคำขอของผู้ร้องทุกข์ตามหนังสือร้องทุกข์ฉบับนี้แล้ว ก็พบว่าเป็นประเด็นเดียวกันกับประเด็นร้องทุกข์และคำขอของผู้ร้องทุกข์ ที่ ก.พ.ค. ได้มีคำวินิจฉัยไปแล้วทั้งสองครั้งดังกล่าวข้างต้น กรณีจึงเป็น การร้องทุกข์ซ้ำในเรื่องที่ ก.พ.ค. ได้มีคำวินิจฉัยแล้ว จึงห้ามมิให้รับไว้พิจารณา ตามข้อ 42 (5) ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วย การร้องทุกข์และการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2556 อีกทั้งการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ข. ได้พิจารณาหนังสือร้องขอ ความเป็นธรรมของผู้ร้องทุกข์และมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ร้องทุกข์ทราบนั้น ก็เป็นเพียงการพิจารณาตอบแจ้งของผู้บังคับบัญชาต่อผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งยังไม่มีผลกระทบต่อสถานภาพแห่งสิทธิของผู้ร้องทุกข์ แต่อย่างใด กรณีตามเรื่องร้องทุกข์นี้จึงยังไม่ถือเป็นเหตุคับข้องใจ ในอันที่จะนำมาเป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ได้ ดังนั้น ผู้ร้องทุกข์จึงมิใช่เป็นผู้มีสิทธิร้องทุกข์ ตามมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบข้อ 7 ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552 กรณีจึงต้องห้ามมิให้รับคำร้องทุกข์ไว้พิจารณาตามข้อ 42 (1) และ (5) ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2556 ก.พ.ค. จึงมีคำวินิจฉัยไม่รับเรื่องร้องทุกข์นี้ไว้พิจารณา และสั่งจำหน่ายเรื่องออกจากสารบบ

หากข้าราชการไม่ได้รับความเป็นธรรมเกี่ยวกับการพิทักษ์ระบบคุณธรรมในระบบราชการพลเรือน หรือมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือติดต่อได้ที่ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม สำนักพิทักษ์ระบบคุณธรรม สำนักงาน ก.พ. ถนนติวานนท์ จังหวัดนนทบุรี 11000 โทรศัพท์ 0 2547 1844 โทรสาร 0 2547 2004 – 5 หรือ http://www.ocsc.go.th

  1. ยังไม่มีความเห็น
  1. No trackbacks yet.

ใส่ความเห็น