หน้าแรก > Uncategorized > คอลัมน์ นิติปกครอง: ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คอลัมน์ นิติปกครอง: ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นายมหาชน. คอลัมน์ นิติปกครอง: ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย. บ้านเมือง ฉบับวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2549 หน้า 5
นักกฎหมายอธิบายคำว่า ดุลพินิจ ไว้ว่าหมายถึง การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายมีอำนาจตัดสินใจอย่างอิสระที่จะเลือกกระทำหรือไม่กระทำหรือกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งในกรณีที่กฎหมายให้ทางเลือกไว้ ซึ่งการตัดสินใจเลือกดำเนินการอย่างไรผู้ตัดสินใจต้องมีเหตุผลอันสมควร การใช้ดุลพินิจจึงจะชอบด้วยกฎหมาย
คดีปกครองวันนี้เป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยคดีมีรายละเอียดดังนี้

ผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งเภสัชกร 7 วช ในหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่ง ต่อมาหน่วยงานดังกล่าวมีอัตราว่าง ระดับ 8 สายวิชาการ จึงได้แจ้งให้ผู้ที่มีคุณสมบัติมาสมัครเพื่อรับการคัดเลือกให้เป็นผู้มีสิทธิเสนอผลงานเพื่อประเมินเลื่อนระดับ 8 สายวิชาการดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีได้สมัครเข้ารับการคัดเลือก แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก โดยคณะอนุกรรมการสามัญประจำ (อ.ก.พ.) ได้ลงมติคัดเลือกผู้อื่นสมมุติให้ชื่อว่า นาย เด่น ให้เป็นผู้เสนอผลงานทางวิชาการเพื่อรับการประเมินเลื่อนและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับ 8 สายวิชาการ

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคณะอนุกรรมการสามัญฯ ใช้ดุลพินิจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่พิจารณาไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ อันเป็นการพิจารณาโดยขาดความเป็นกลางและไม่โปร่งใส จึงนำเรื่องมาฟ้องต่อศาลปกครอง

ประเด็นแรกที่ศาลพิจารณาก็คือ ศาลปกครองมีอำนาจตรวจสอบการใช้ดุลพินิจดังกล่าวหรือไม่ เรื่องนี้ศาลเห็นว่ากฎหมายกำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด เนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจ นอกเหนืออำนาจ ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น ไม่สุจริต หรือเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ฯลฯ

แม้การใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครองในกรณีนี้จะเป็นการใช้ดุลพินิจเพื่อแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นอันเป็นระบบบริหารงานบุคคลภาครัฐก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวมีผลกระทบต่อสถานภาพแห่งสิทธิของผู้ฟ้องคดี เมื่อผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าคณะอนุกรรมการสามัญฯ (ผู้ถูกฟ้องคดี) ใช้ดุลพินิจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง

สำหรับประเด็นเนื้อหาแห่งคดีที่ศาลต้องวินิจฉัยคือ มติของคณะอนุกรรมการสามัญฯ ที่คัดเลือกนายเด่นให้เป็นผู้มีสิทธิประเมินผลงานเพื่อประเมินเลื่อนและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเภสัชกร 8 วช ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

เห็นว่า อ.ก.พ. ได้มีมติกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือก โดยให้พิจารณาจากองค์ประกอบ 2 ด้าน คือ ก. ผลงานหรือผลการปฏิบัติงานในระดับเดิมซึ่งเป็นที่ประจักษ์ มีศักยภาพและคุณภาพในงาน และ ข ข้อมูลด้านบุคคล ได้แก่ อายุราชการ อัตราเงินเดือน เครื่องราชอิสริยาภรณ์

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานการประชุม เรื่องขอความเห็นชอบในการคัดเลือกบุคคลระดับ 8 สายวิชาการ ไม่ปรากฏว่าที่ประชุมได้ใช้หลักเกณฑ์ที่กำหนดดังกล่าวมาใช้ในการพิจารณาแต่ประการใด แต่มีเพียงว่าที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาถึงผลงานและคุณสมบัติของบุคคล ตามรายละเอียดเอกสารที่ฝ่ายเลขานุการจัดส่งให้ ซึ่งได้แก่ แบบใบสมัครเข้ารับการคัดเลือก แล้วที่ประชุมได้มีมติเลือกนาย เด่น ให้เป็นผู้เสนอผลงาน โดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดที่แสดงว่าที่ประชุมได้ใช้ดุลพินิจตรวจผลงานหรือผลการปฏิบัติงานในระดับเดิมเป็นที่ประจักษ์ตามหลักเกณฑ์การพิจารณาดังกล่าว แต่กลับวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่มีอยู่เพียงพอที่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ว่า ผู้ใดเป็นผู้สมควรได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้เสนอผลงานเพื่อประเมินในตำแหน่งดังกล่าว อันเป็นการพิจารณาโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและเหตุผลที่สนับสนุนเพียงพอ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ศาลปกครองจึงพิพากษาให้เพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่มีมติคัดเลือกนาย เด่น ให้เป็นผู้เสนอผลงานเพื่อประเมินและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเภสัชกร 8 วช (อ.78/2549)

เรื่องนี้สามารถสรุปเป็นหลักการได้ว่า การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจ ต้องใช้ดุลพินิจตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายในเรื่องนั้นๆ กำหนดไว้ ซึ่งถ้าใช้ดุลพินิจโดยไม่คำนึงถึงหลักเกณฑ์ ศาลสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ว่าเป็นดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

หมวดหมู่:Uncategorized
  1. ยังไม่มีความเห็น
  1. No trackbacks yet.

ใส่ความเห็น